กระต่ายน้อยกับหน้าร้อน หน้าร้อนน้องต้องระวังอะไร
วนมาถึงเมษายนทีไร ไม่ว่าจะคนหรือน้องกระต่ายก็จะถูกเตือนเรื่องฮีทสโตรกทุกที วันนี้คุณหมอกานต์และ Marena Bunny ขอส่งตอความห่วงใยถึงผู้เลี้งและน้อง ๆ ทุกบ้าน ด้วยบทความนี้ ซึ่งจะเป็นเช็คลิสต์ของทุกท่านในการเช็คอาการของน้องว่าน้องเป็นฮีตสโตรกหรือไม่ จะได้สังเกตและช่วยเหลือน้องกระต่ายได้อย่างทันท่วงที
ฮีทสโตรก Heat stroke หรือ เรียกภาวะช็อคจากความร้อน เกิดจากอะไร
ฮีทสโตรก Heat stroke หรือ เรียกภาวะช็อคจากความร้อน เกิดจากการที่น้องกระต่ายอาศัยอยู่ในกรงที่แดดส่องตรงๆหรือถ้าไม่ได้โดนแดดโดยตรงแต่ภายในห้องมีอากาศที่ร้อนอบอ้าว และระบายความร้อนไม่ได้ จนทำให้ขณะนั้นน้องกระต่ายมีอุณหภูมิของร่างกายสูงเกินกว่า 41 องศาเซลเซียสขึ้นไป
ฮีทสโตรก Heat stroke หรือ เรียกภาวะช็อคจากความร้อน จะพบมากในสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ ดังนั้นน้องกระต่ายเราจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นฮีทสโตรกได้ง่าย เมื่ออุณหภูมิร่างกายของน้องกระต่ายสูงขึ้นขนาดนั้นแล้วร่างกายของน้องกระต่ายจะระบายความร้อนไม่ทัน จนเกิดอาการช็อคตามมา
จะรู้ได้อย่างไรว่าน้องเริ่มเป็นฮีทสโตรก
Checklist อาการและข้อสังเกต ที่เรานำมารวบรวมให้ผู้เลี้ยงกระต่าย ได้นำมาตรวจตราน้องกระต่ายที่บ้าน ได้แก่
- เริ่มต้นสังเกตจากการที่น้องซึม ไม่กินอาหาร เป็นสัญญาณแรกของอาการป่วย
- หอบ หายใจเสียงดัง จนสังเกตได้
- ตัวร้อนจี๋ แนะนำให้จับบริเวณ ขาหนีบ รักแร้ หลังคอ จะร้อนมากกว่าตอนที่เคยช้อนอุ้มเค้า
- หากมีปรอทวัดไข้ยิ่งดีใหญ่ เราสามารถวัดได้โดยตรงผ่านทางรูก้น และไม่ควรมีค่าเกิน 40.5 องศา เนื่องจากเข้าใกล้ภาวะวิกฤติ (อุณหภูมิปกติอยู่ที่ 38-40 องศาเซลเซียส)
- ในกรณีที่เลยจุดวิกฤติแล้วอาจพบอาการตัวสั่น ชักเกร็ง นอนนิ่งไม่ไหวติง
การปฐมพยาบาลน้องกระต่าย ก่อนพาไปพบคุณหมอโดยด่วน
หากสังเกตน้องกระต่ายและพบความผิดปกติ หรือคาดว่ามีความเสี่ยงที่น้องจะเป็นฮีทสโตรก Heat stroke หรือ เรียกภาวะช็อคจากความร้อน ผู้เลี้ยงต้องช่วยปฐมพยาบาลน้องกระต่ายด้วยตนเองและรีบก่อนพาไปพบคุณหมอโดยด่วน สิ่งที่ต้องรีบทำในขณะนั้นคือ
- ต้องลดความร้อนให้ไว ด้วยการ เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น บริเวณ ใบหู ลำตัว รักแร้ ขาหนีบ
ข้อควรระวัง ห้ามใช้น้ำเย็นจัดเพราะอาจจะยิ่งส่งผลเสียเข้าไปกันใหญ่ - วางน้ำเย็นให้ทาน หรือป้อนน้ำเย็นโดยตรงเลย
วิธีการป้องกันก่อนเกิดภาวะช็อคแบบง่ายๆ
เรื่องอากาศและอุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องนี้ ผู้เลี้ยงต้องหมั่นตรวจตราและให้ความสำคัญโดยจะต้องสังเกตบริเวณที่อยู่ของน้อง ว่าถ่ายเทสะดวกไหม ทิศทางแดดทั้งตอนเช้าและตอนบ่ายไม่ควรจะโดนตรงๆ
จะต้องมีการเพิ่มการถ่ายเทอากาศ ด้วยการเปิดพัดลมหรือแอร์ ในสถานการณ์ของสภาพอากาศในช่วงเวลานั้น ๆ
สรุป
ในช่วงที่อากาศร้อนสูงขึ้น ขนาดคนเรายังรู้สึกร้อนขนาดนี้และมีข่าวการเสียชีวิตจากภาวะฮีทสโตรกให้เห็นมากมาย แน่นอนกระต่ายเป็นสัตว์ที่ยิ่งร้อนง่ายกว่าคนปกติ ดังนั้นในทุก ๆ ปี คุณหมอจึงพบเคสที่น้องกระต่ายช็อคจากภาวะฮีทสโตรกนี้เป็นจำนวนไม่น้อย ผู้เลี้ยงทุกคนจะสามารถช่วยกันป้องกันน้องกระต่ายจากภัยนี้ได้โดยการหมั่นตรวจตราอากาศและอุณหภูมิในที่อยู่ให้น้อง และอย่าปล่อยน้องอยู่ลำพังโดยไม่ได้เตรียมการให้น้องไว้ล่วงหน้า การเตรียมการและการป้องกันนั้นย่อมดีกว่าการพาน้องที่วิกฤตแล้วไปพบคุณหมอเสมอ ด้วยรักและห่วงใย
แหล่งที่มาของบทความ
- บทความจากแอดมินหมอกานต์ และ เพจ Marena Bunny
- เรียบเรียงเพิ่มเติมโดย เพจหนูเป็นสัตว์ฟันแทะ